หมู่บ้านศรีฐาน หมู่บ้านในเขตตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร รู้จักกันในอีกชื่อหมู่บ้านทำหมอนขิตบ้านศรีฐาน มีขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นอยู่ และการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยาวนาน คือการผลิตหมอนขวานผ้าขิด มีการเริ่มต้นมาจากการทำหมอนหนุนซึ่งใช้ในครัวเรือนและใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของเช่น แลกข้าว ปลา พริก หอมและกระเทียมแทนการซื้อขายโดยเฉพาะกับหมู่บ้านอื่นต่อมาจึงมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือหมอนขวานผ้าขิด ดังนั้นจึงได้เน้นการผลิตและพัฒนาหมอนขวานให้มีรูปแบบสวยงาม ในอดีตจะผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน ทำบุญถวายพระ ตลอดจนใช้ในงานประเพณีต่าง ๆและเป็นของฝากสำหรับกับญาติพี่น้องต่างถิ่น การนำหมอนขวานผ้าขิดมาเป็นของฝากนี้เองทำให้หมอนขวานบ้านศรีฐานเป็นที่รู้จักของคนนอกชุมชน เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงมีผลิตเพื่อจำหน่าย ผู้ผลิตคนแรก คือนางธรรมมา สู้สงคราม จากนั้นจึงผลิตหมอนขวานผ้าขิดเพื่อการจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านทำหมอนขิดบ้านศรีฐาน ห่างจากตัวเมืองยโสธรประมาณ 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-ป่าคิ้ว-อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18-19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร หลังฤดูทำนา ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้าและทำหมอนขิต นักท่องเที่ยวเข้าไปชมและซื้อหมอนขิตไว้เป็นที่ระลึก นับเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่นำรายได้เป็นอันดับสองรองจากการทำนา
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านศรีฐาน คือ หมอนขวานผ้าขิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎในคำขวัญของจังหวัดยโสธร และมีประวัติความเป็นมายาวนาน พัฒนารูปแบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากหมอนขวานแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างเช่น ที่นอนพับ ที่นอนระนาด หมอนกระดูก หมอนรองคอ หมอนผลไม้ เบาะรองนั่ง นอกจากการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แล้วยังมีการพัฒนาด้านการตลาด การสร้างเครือข่ายการตลาด บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีการจัดนิทรรศการและจำหน่ายสินค้า OTOP เมืองทองธานี และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ทำให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมอนขิดมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี
หมอนขวานผ้าขิดเป็นหัตถกรรมของชาวอีสานที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย ได้รับความนิยมทั่วไป เป็นของใช้ของฝากที่มีชื่อของยโสธร ทำจากผ้าทอลายขิด ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมืองของภาคอีสาน มีลวดลาย รูปแบบหลากหลาย และสีสันสดใสสวยงาม หมอนขวานผ้าขิด เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณกาล มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น แสดงถึงภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ต่อมา คุณพ่อสัมฤทธิ์ จันเหลือง ได้เห็นหมอนในจังหวัดอื่นที่ใช้ผ้าดิ้นเงินดิ้นทองมาทำ จึงได้นำมาพัฒนาการทำหมอนจากผ้าดิ้นเงิน ดิ้นทอง และต่อมา ได้พัฒนานำผ้าขิดมาทำหมอน เพิ่มรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เช่น ที่นอน ที่รองนั่ง ปัจจุบันนางสาวนุนุช จันเหลือง ซึ่งเป็นลูกสาวของคุณพ่อสัมฤทธิ์ จันเหลือง รับหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน ในการผลิตหมอนขวานผ้าขิดออกจำหน่าย